สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตรวจสุขภาพ ก่อนหมดสภาพ

ตรวจสุขภาพ ก่อนหมดสภาพ

ตรวจสุขภาพ ก่อนหมดสภาพ
Article: ศ.นพ.วิโรจน์ ไววานิชกิจ อายุรแพทย์ด้านเวชศาสตร์เขตร้อน

     แม้ความแก่ชราจะเป็นเรื่องธรรมดาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้สุขภาพกายใจเสื่อมลง นำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บ ด้วยเหตุนี้การตรวจคัดกรองสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นมาตรการในการดูแลสุขภาพที่ผู้สูงอายุไม่ควรมองข้าม

     แต่ก่อนที่จะไปดูว่าผู้สูงอายุควรตรวจสุขภาพอย่างไร เรามาเรียนรู้สาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนเพิ่มมากขึ้นก่อนดีกว่าว่าเกิดจากอะไรบ้าง

      1. ความเสื่อมสภาพของเซลล์ จนทำให้โปรแกรมการทำงานเกิดความเสียหาย เหมือนกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่พอโปรแกรมรวนขึ้นมาก็ย่อมทำหน้าที่ผิดพลาด สำหรับในกรณีของเซลล์ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจจะมาจากเซลล์ที่ตาย หรือเกิดการกลายพันธุ์เป็นเนื้องอก เนื้อร้าย หรือมะเร็งได้

      2. ความเสื่อมสภาพของอวัยวะ ซึ่งทำให้เกิดความอ่อนแอจนทำหน้าที่ได้ไม่เต็มร้อย และไม่อาจจะทนต่อแรงกระทำจากสิ่งต่างๆ ได้เหมือนเมื่อครั้งยังเป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นเหตุให้ตับ ไต หัวใจ ของคนสูงอายุมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง หรือมีปัญหาได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้กระดูกและกล้ามเนื้อยังไม่ค่อยแข็งแรง จึงอาจจะเกิดการหกล้มหรือเกิดอุบัติเหตุอื่นๆ ได้ง่าย

      ด้วยเหตุนี้การดูแลเอาใจใส่สุขภาพของผู้สูงอายุจึงมีความจำเป็นมาก โดยสามารถนำเอาหลักการการดูแลรักษาสุขภาพสำหรับคนทั่วไปมาใช้ได้ ซึ่งก็คือหลักการป้องกันไว้ดีกว่าแก้ หรือหลักการลดความเสี่ยงดีกว่าการรักษา อีกหลักการที่สามารถนำมาใช้ในการป้องกันโรคได้ก็คือ การตรวจคัดกรองสุขภาพ ซึ่งเป็นการตรวจทางการแพทย์ด้วยวิธีหรือเครื่องมือพิเศษต่างๆ เพื่อค้นหาโรค โดยมีจุดประสงค์ดังต่อไปนี้

      1. ค้นหาความผิดปกติที่เป็นสัญญาณ หรือความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเป็นโรคในอนาคต
     2. ค้นหาความผิดปกติของโรคในระยะเริ่มแรกที่อาจจะยังไม่มีอาการแสดงใดๆ ซึ่งยังสามารถรักษาให้หายขาดได้ง่าย

      ฉะนั้นการตรวจคัดกรองสุขภาพจึงมีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างมากในทางการแพทย์ รวมถึงมีข้อบ่งใช้สำหรับทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงวัยชรา เพียงแต่อาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันบ้าง ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวถึงการตรวจคัดกรองสุขภาพสำหรับกลุ่มคนสูงอายุเป็นการจำเพาะครับ

ควรตรวจอะไรบ้าง
   
  การตรวจคัดกรองจำเพาะสำหรับกลุ่มคนสูงอายุจะมีอยู่หลายๆ อย่าง แต่สามารถสรุปได้ง่ายๆ ดังต่อไปนี้ครับ

      1. การตรวจคัดกรองกลุ่มอาการอ้วนลงพุง (metabolic syndrome) ซึ่งก็คือการตรวจคัดกรอง 4 โรค ได้แก่
     - เบาหวาน โดยการตรวจเลือดดูระดับน้ำตาลในเลือดว่าสูงเกินค่าที่กำหนดหรือไม่
     - ไขมันในเลือดสูง โดยการตรวจเลือดดูระดับไขมันชนิดคอเลสเตอรอลและไตรกรีเซอไรด์ในเลือด
     - ความดันโลหิตสูง ซึ่งทำโดยการวัดความดันโลหิตด้วยเครื่องวัดที่ต้นแขน หลังจากนั่งพักอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง
     - โรคอ้วน โดยการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และคำนวณหาค่าดัชนีมวลกาย

      2. การตรวจคัดกรองกลุ่มโรคที่เกิดจากความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ดังต่อไปนี้
     - โรคตับ โดยการตรวจเลือดดูการทำงานของตับ
     - โรคไต โดยการตรวจเลือดดูการทำงานของไต
     - โรคปอด โดยการตรวจเอกซเรย์ทรวงอก
     - โรคหัวใจ โดยการตรวจเอกซเรย์ทรวงอกและคลื่นหัวใจ

      3. การตรวจคัดกรองกลุ่มโรคมะเร็ง ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
     - ตรวจสารมะเร็งในเลือด สำหรับมะเร็งในทางเดินอาหารและลำไส้ (CEA) มะเร็งตับ (AFP)
     - ตรวจภายในและ pap smear สำหรับมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งอื่นๆ ในระบบสืบพันธุ์สตรี
     - ตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก สำหรับมะเร็งต่อมลูกหมาก
     - ตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม สำหรับมะเร็งเต้านม
     - ตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้อง สำหรับมะเร็งในช่องท้อง

      4. การตรวจทางระบบประสาทและจิตเวช เพื่อดูความเสื่อมของสมองและระบบประสาท เนื่องจากผู้สูงอายุทุกรายจะมีภาวะความเสื่อมของระบบต่างๆ ภายในร่างกาย ซึ่งความเสื่อมถอยของระบบประสาทก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยความเสื่อมถอยดังกล่าวจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงของความสามารถในการควบคุมกล้ามเนื้อ การรับความรู้สึกสัมผัส การพูด การกลั้นปัสสาวะ ความจำ ตลอดจนอารมณ์ หนึ่งในโรคที่เรารู้จักกันดีในกลุ่มผู้สูงอายุ คือ โรคสมองเสื่อม ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ควรระวัง

      5. นอกจากนี้ยังควรตรวจวัดความสัมบูรณ์ของเลือด การตรวจปัสสาวะ และการตรวจอุจจาระ ซึ่งการตรวจเหล่านี้เป็นการตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐานสำหรับค้นหาโรคต่างๆ ที่พบบ่อยในประชาชนทั่วไป ซึ่งไม่จำเพาะสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น โดยการตรวจแต่ละอย่างมีวัตถุประสงค์ดังนี้
     - ตรวจวัดความสัมบูรณ์ของเลือด สำหรับค้นหาภาวะโลหิตจาง และความผิดปกติของเม็ดเลือดขาว
     - ตรวจปัสสาวะ สำหรับค้นหาโรคไต เบาหวาน และกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
     - ตรวจอุจจาระ สำหรับค้นหาโรคติดเชื้อพยาธิในลำไส้

      6. การตรวจความเสื่อมของอวัยวะอื่นๆ ที่มีในเวชปฏิบัติ ได้แก่
     - ตรวจมวลกระดูก เนื่องจากผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเพศหญิงในช่วงหลังวัยหมดประจำเดือน มีแนวโน้มที่จะเกิดการสูญเสียมวลกระดูกได้ง่าย เนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน จึงทำให้เกิดกระดูกแตกหักได้ง่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ แม้จะไม่รุนแรงก็ตาม
    
       - ตรวจตา เนื่องจากความเสื่อมของสายตาเป็นเรื่องที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งหากค้นพบปัญหาเร็วก็จะสามารถให้การรักษาทางจักษุวิทยาเพื่อแก้ปัญหาได้ทัน สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีโรคประจำตัว ก็อาจจะมีปัญหาทางด้านสายตาได้เช่นกัน อาทิ โรคต้อกระจก โรคต้อหิน หรือภาวะประสาทจอรับภาพเสื่อม รวมถึงภาวะสายตาสั้นหรือยาวผิดปกติ ซึ่งทั้งหมดนี้อาจทำการตรวจคัดกรองด้วยการวัดสายตา โดยให้ผู้สูงอายุอ่านภาพตัวอักษรหรือดูภาพที่ห่างออกไป 6 เมตร ถ้าพบว่ามีความผิดปกติ แพทย์ก็จะส่งตัวผู้ป่วยไปพบจักษุแพทย์ต่อไป
       
     - ตรวจหู เนื่องจากความเสื่อมของหูเป็นเรื่องที่พบบ่อยในผู้สูงอายุเช่นกัน (ประมาณร้อยละ 25-35) โดยพบมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัญหาการได้ยินที่พบได้บ่อยก็คือ ภาวะหูเสื่อมจากอายุ ภาวะประสาทหูเสื่อมจากการได้ยินเสียงดังมากๆ ในอดีต และหูชั้นนอกอุดตัวจากขี้หูซึ่งมีปริมาณมากและติดแน่น ซึ่งความผิดปกติของ 2 สาเหตุแรกจำเป็นต้องได้รับการตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษของแพทย์เฉพาะทางด้านหู จึงยืนยันได้แน่นอน และสามารถแก้ไขได้โดยการใช้เครื่องช่วยฟัง

        - ตรวจฟันและสุขภาพในช่องปาก เนื่องจากผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 50 มีปัญหาเกี่ยวกับเหงือกและฟันซ่อนเร้นอยู่ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือมีฐานะยากจน โดยโรคที่พบบ่อย คือ ฟันผุ เหงือกอักเสบ หรือมะเร็งในช่องปาก ดังนั้นจึงควรให้ทันตแพทย์ตรวจสุขภาพในช่องปากเป็นระยะๆ

ต้องตรวจบ่อยแค่ไหน
     การตรวจเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นและผู้สูงวัยทุกคนควรจะได้รับการตรวจคัดกรอง ส่วนคำถามที่ว่าจะต้องตรวจบ่อยแค่ไหนขอสรุปง่ายๆ ดังนี้ครับ

กลุ่มที่ควรตรวจทุกปี ได้แก่
- การตรวจสุขภาพพื้นฐาน และตรวจความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ
- การตรวจตัดกรองกลุ่มโรคเมตาโบลิค
- การตรวจคัดกรองกลุ่มโรคที่เกิดจากความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ
- การตรวจภายในและ pap smear
- การตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก

กลุ่มที่ควรตรวจทุก 5 ปี ได้แก่
- การตรวจสารมะเร็งในเลือด
- การตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรมสำหรับมะเร็งเต้านม
- การตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้อง สำหรับมะเร็งในช่องท้อง
- การตรวจทางระบบประสาทและจิตเวช

ตรวจแล้วต้องทำอย่างไร
     นอกจากการไปรับการตรวจคัดกรองสุขภาพแล้ว ยังมีสิ่งสำคัญที่ต้องเน้นย้ำก็คือ

      1. ต้องใส่ใจในการรับการตรวจคัดกรอง โดยผู้สูงอายุเองรวมทั้งบุตรหลานควรใส่ใจเรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุ และควรให้เข้ารับการตรวจคัดกรอง เพราะวิธีการคัดกรองนั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่าทำให้คนชรามีอายุขัยยืนยาวขึ้นจริง

      2. ต้องติดตามผลการตรวจคัดกรอง เพราะถ้ามาตรวจแล้วไม่มาติดตามผลก็ย่อมจะไม่เกิดประโยชน์

      3. ถ้าตรวจแล้วพบความเสี่ยงหรือพบความผิดปกติ ก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง หรือเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ที่เหมาะสมต่อไป

อย่าตรวจสุขภาพอย่างเดียวนะครับ ต้องแก้ไขด้วยถ้าพบปัญหา

view